เทคโนโลยี ผนังสำเร็จรูป Precast เป็นวิธีการสร้างบ้านในยุคใหม่ ที่สามารถช่วยให้สร้างบ้านได้อย่างรวดเร็ว ทันใจลูกค้า โดยเปลี่ยนจากผนังบ้านที่สร้างขึ้นมาจากการก่ออิฐฉาบปูน มาเป็นผนังคอนกรีตสำเร็จรูป
ในปัจจุบันมีโครงการหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมมากมายที่ก่อสร้างด้วย Precast ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงสามารถควบคุมงานก่อสร้างได้มีคุณภาพมากขึ้น
ผู้ที่ต้องการจะสร้างบ้านจึงควรรู้จักระบบ ผนังสำเร็จรูป เพื่อใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกสร้างบ้านที่มีคุณภาพ (แนะนำให้อ่าน ขั้นตอนการผลิตผนังพรีแคส) และตรงตามความต้องการที่สุด
การก่อสร้างในอดีตจะนิยมใช้ไม้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง จนพัฒนามาเป็นการใช้คอนกรีตซึ่งใช้อย่างแพร่หลายมากในปัจจุบัน เพราะมีความแข็งแรง รวมไปถึงมีการพัฒนามาใช้คอนกรีตอัดแรง ในงานอาคารสูงเพื่อลดค่าใช้จ่าย และในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระบบการก่อสร้างแบบ Precast หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศไทย
เหตุผลที่ก่อสร้างด้วยผนังสำเร็จรูป (Precast) เป็นที่นิยมมากขึ้นเพราะต้นทุนการก่อสร้างอาคารลดลงเมื่อเทียบกับระบบการก่อสร้างแบบปกติ ด้วยระยะเวลาในการก่อสร้างที่เร็วขึ้น ส่งผลให้ค่าแรงช่างถูกลง (แนะนำให้อ่าน การสร้างบ้านด้วยผนังพรีแคส)
และคุณภาพงานก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานเนื่องจากผลิตมาจากโรงงาน สามารถเปิดโครงการได้รวดเร็วทันความต้องการของตลาด และยังนำระบบวิธีการไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ต่อได้อีกด้วย
การก่อสร้างด้วยระบบ Precast สามารถก่อสร้างได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับการก่อสร้างในระบบแบบปกติ โดยในบ้าน 1 หลังหากก่อสร้างด้วยระบบเสา-คาน ที่มีการก่ออิฐฉาบปูนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-12 เดือน
แต่เมื่อเทียบกับระบบ Precast สามารถทำได้ภายใน 3-4 เดือน (เร็วกว่าประมาณ3เท่า) สาเหตุที่ระบบ Precast สร้างได้เร็วกว่าเนื่องจากผนังจะถูกหล่อมาเป็นชิ้นจากโรงงานไม่ต้องเสียเวลาก่ออิฐฉาบปูน
แม้ว่าวัสดุแล้วชิ้นส่วน Precast จะมีราคาแพงกว่าอิฐ แต่ระบบ Precast จะใช้แรงงานน้อยกว่า และไม่ต้องเสียค่าไม้แบบ
นอกจากนี้การก่อสร้างที่เร็วยังลดค่าดำเนินการลงด้วย
เมื่อเทียบโดยรวมแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างด้วยระบบ Precast จึงมีราคาค่าก่อสร้างที่ถูกกว่า และค่าแรงในปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้น การก่อสร้างด้วย Precast จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆ จะถูกผลิตมาจากโรงงานเป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้การควบคุมคุณภาพทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะไม่ถูกรบกวนจากสภาพอากาศ เช่นแดดหรือฝน และไม่ขึ้นกับฝีมือแรงงานมากนัก
เพราะถ้าเป็นการก่อสร้างด้วยระบบเสา-คานที่มีการก่ออิฐฉาบปูนจะต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญมากในการก่ออิฐและฉาบผนังเพื่อให้ออกมาดีและสวยงาม แต่หากเป็นชิ้นส่วน Precast จะสามารถควบคุมการผลิตชิ้นงานให้มีคุณภาพสม่ำเสมอและง่ายต่อการตรวจสอบ
นอกจากนี้ระบบ Precast ยังมีข้อได้เปรียบระบบเสา-คาน อีกหลายด้าน เช่น ความสามารถในการป้องกันเสียงรบกวน ความแข็งแรงของผนัง ความทนทานต่อความร้อนและช่วยลดความร้อน
แม้ว่าการก่อสร้างด้วยระบบ Precast จะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ยังมีผู้บริโภคบางส่วน ไม่มั่นใจในระบบนี้ ทั้งในเรื่องการรั่วซึม และปัญหารอยร้าว โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น อาจจะมาจากการก่อสร้างด้วยระบบ Precast ของประเทศไทยในช่วงแรกๆที่ยังขาดความชำนาญและความรู้ในการก่อสร้าง เพราะแม้ระบบนี้จะใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศมานานแล้วก็ตาม
แต่ในประเทศไทยนั้นถือเป็นระบบใหม่ จึงอยู่ในช่วงเรียนรู้ เช่น นำวิธีการ Joint จากต่างประเทศมาใช้ แต่เนื่องจากประเทศไทยมีฝนตกชุกมากกว่าทำให้วิธีการป้องกันน้ำแบบเดิมจึงใช้ไม่ได้ผล หรือบ้านที่เกิดรอยร้าวขึ้น
เพราะผู้ออกแบบและผู้รับเหมาในช่วงแรกๆ ยังไม่มีความชำนาญที่เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันวิธีการก่อสร้างด้วยระบบ Precast ได้มีการพัฒนาปรับปรุงจนสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้แล้ว
ข้อมูลอ้างอิง at home with precast concrete